การเดินสายไฟที่ดีต้องรู้อะไรบ้าง?

การเดินสายไฟ

หลายๆ ท่านทราบกันหรือไม่ครับว่าหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเช็คบ้านนั้น ก็คือเรื่องของการเดินสายไฟต่างๆ ซึ่งไม่แพ้เรื่องของโครงสร้างของตัวห้องหรือบ้านเลยหล่ะครับ วันนี้เราจะพาทุกๆ ท่านไปหาความรู้เกี่ยวกับ “หลักการเดินสายไฟ” และ “การเดินสายไฟที่ดีของช่างเป็นแบบไหน” กันครับ เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา เราไปชมกันดีกว่าครับผม

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ การเดินสายไฟ

การเลือกแบบการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นจะต้องมีการวางแผนตั้งแต่เริ่มสร้างบ้าน เพราะเกี่ยวข้องกับความสะดวกในการติดตั้งและความสวยงาม โดยการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้าน สามารถแยกออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่

1. การเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านแบบเดินลอย

รูปแบบการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านที่ใช้กันมานาน วิธีการคือการเดินสายไฟแนบติดไปกับผนัง ซึ่งมี 2 แบบหลัก ๆ คือ

  • แบบตีกิ๊บ เป็นเดินสายไฟแนบไปกับผนัง หักงอไปตามเสา ตามคาน แล้วเชื่อมต่อไปยังเต้ารับและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีการตีกิ๊บเพื่อยึดเกาะเป็นระยะ ๆ
  • แบบท่อร้อยสายไฟ เป็นการร้อยสายไฟผ่านท่อโลหะหรือท่อพลาสติก PVC การเดินสายไฟแบบนี้ช่วยป้องกันสายไฟให้ทนทาน ปลอดภัย ตรวจเช็กได้ง่าย แต่ควรระวังไม่ให้สายไฟในท่อมีความหนาแน่นเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้

สำหรับข้อดีของการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านแบบเดินลอยคือ ประหยัดเวลาและงบประมาณในการติดตั้ง สามารถปรับปรุงซ่อมแซมได้ง่ายกว่าโดยไม่ต้องรื้อผนัง

ข้อเสียคือต้องใช้ความปราณีตในการติดตั้ง มีสวิตช์หรือเต้าเสียบยื่นออกมาจากผนัง จึงต้องเช็คความลงตัวในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ด้วย และหากจำเป็นต้องเดินสายไฟเป็นจำนวนมาก จะทำให้บ้านดูรกไม่สวยงาม

2. การเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านแบบฝังผนัง

การเดินสายไฟในท่อร้อยสายไฟที่ฝังไว้ในผนังหรือฝ้าเพดาน จึงทำให้ผนังบ้านเรียบเนียน ไม่มีแนวสายไฟให้เห็น สำหรับการเดินสายไฟฟ้าภายในบ้านแบบฝังผนัง หากเป็นการฝังในผนังเบา ขั้นตอนจะไม่ยุ่งยาก เพราะมีช่องว่างภายในระหว่างโครงคร่าวทำให้สะดวกต่อการเดินสายไฟ และสามารถติดตั้งท่อร้อยสายไฟระหว่างติดตั้งโครงคร่าวแล้วจึงค่อยปิดแผ่นผนัง

ส่วนการซ่อนสายไฟไว้ในผนังก่ออิฐ จะต้องเจาะผนังแล้วใช้ท่อร้อยสายไฟลงไปในช่อง การเดินสายไฟจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนให้ดีและใช้ช่างผู้ชำนาญ

หลักการเดินสายไฟภายในอาคารที่ดี นอกจากแนวทางการเดิน ต้องรู้เกี่ยวกับอะไรอีกบ้าง?

1. ต้องมีความรู้เกี่ยวกับประเภทสายไฟ

การเดินสายไฟจะต้องรู้ประเภทสายไฟสำหรับการติดตั้ง โดยแบ่งออกเป็นสำหรับใช้กับแรงดันไฟต่ำและแรงดันไฟสูง ซึ่งตามครัวเรือน หรือที่อยู่อาศัยมักใช้แรงดันไฟต่ำ สายตัวนำทองแดงที่หุ้มฉนวนต้องมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 450/750 โวลต์ หรือไม่เกิน 750 โวลต์ ยกตัวอย่างเช่น

  • สายไฟชนิดทีเอชดับเบิลยู (THW) แรงดันไฟฟ้า 750 โวลต์ เป็นสายเดี่ยว นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะสามารถใช้ในวงจรไฟฟ้า 3 เฟสได้ อุณหภูมิใช้งานที่ 75 องศาเซลเซียส ผลิตตามมาตรฐาน มอก. 11 -2531 เหมาะแก่การใช้ในงานเดินท่อร้อยสาย เดินใต้ฝ้าและในผนัง ไม่ควรฝังลงดิน
  • สายไฟชนิดวีเอเอฟ (VAF) แรงดันไฟฟ้า 300 โวลต์ นิยมใช้ตามบ้านพักในประเทศไทย มีแบบสายคู่ และสายดิน ชนิด 2 แกน หรือ 3 แกน เป็นสายแบน ตัวนำมีฉนวนหุ้มและมีเปลือกหุ้มอีกหนึ่งชั้น อุณหภูมิใช้งานที่ 70 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การใช้เดินสายไฟแบบลอย ห้ามฝังลงดิน
  • สายไฟ VCT / VCT-G ฉนวนและเปลือกทำมาจาก PVC ตัวนำเป็นทองแดงฝอยเส้นเล็กมัดรวมกันเป็นแกน มีตั้งแต่ 1-4 แกน ส่วนสาย VCT-G เป็นสาย VCT มีสายดินอีกเส้นหนึ่ง อุณหภูมิใช้งานที่ 70 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องต่อลงดิน เป็นต้น

2. เรียนรู้วิธีการตรวจสอบสายไฟ

ท่านสามารถตรวจสอบได้โดยใช้ทั้งที่มิเตอร์ สังเกตการหมุนมิเตอร์เมื่อตัดไฟทั้งหมดแล้ว หรือจะใช้ไขควงไฟฟ้าเช็กปลั๊กไฟก็ได้เช่นกันครับ เพื่อป้องกันปัญหาเกิดไฟรั่วได้ในอนาคตนั้นเองครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับก้บข้อมูลเกี่ยวกับ “การเดินสายไฟที่ดีต้องรู้อะไรบ้าง? ” ที่เราได้นำมาฝากทุกๆ ท่านกันในบทความข้างต้น คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ ท่านกันนะครับ